top of page

Eatable City: เมืองกินได้

เรื่อง: น้องหมี



โครงการเมืองกินได้ (Eatable City) ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 2010 ณ เมือง Andernach ประเทศเยอรมนี โครงการ Eatable City มีจุดประสงค์ที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง โดยการสร้างเมืองกินได้เป็นไปเพื่อการสนับสนุนระบบนิเวศน์ เศรษฐกิจ และสุนทรียะของเมือง (Connective Cities, n.d.)


โครงการ Eatable City เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น, NGOs, และภาคประชาชน หลักการของ Eatable City คือการปลูกพืชแปลงผักชนิดกินได้ในพื้นที่สาธารณะของเมือง โดยประชาชนสามารถเข้ามาเก็บพืชผักเพื่อนำกลับไปเป็นส่วนประกอบของมื้ออาหารได้ ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีการเน้นการปลูกพืชชนิดที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในปี 2010 มีการปลูกมะเขือเทศ 101 สายพันธุ์, ปี 2011 มีการปลูกถั่ว 100 สายพันธุ์, ปี 2012 มีการปลูกหัวหอม 20 สายพันธุ์,และ ปี 2013 เน้นไปที่การปลูกกะหล่ำปลี (Connective Cities, n.d.)



นอกจากการปลูกพืชกินได้แล้ว Eatable City ยังมีการปลูกผลไม้และของกินชนิดอื่น ๆ เช่น ลูกพลับ, มะเดื่อ, อัลมอนด์, และส้มขม ซึ่งทั้งหมดล้วนมีที่มาจากบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรนียน นอกจากนี้ยังมีการนำเอาผลไม้ท้องถิ่นที่ปัจจุบันเป็นผลไม้หายากมาปลูกเพิ่มเติม เช่น ควินซ์ (ผลไม้ที่มีลักษณะเหมือนแอปเปิลผสมกับลูกแพร์), เมดลาร์ (ผลไม้คล้ายแอปเปิล), และ เชอร์รีคอร์เนเลียน (Connective Cities, n.d.)


ที่ผ่านมาโครงการ Eatable City ได้ช่วยให้คนว่างงานได้มีงานทำ โดยทำหน้าที่ในการดูแลพืชผักผลไม้ของโครงการ นอกจากนี้โครงการยังได้ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไป โรงเรียนทำการเรียนการสอนด้านการเกษตรแบบยั่งยืน, การบริโภคตามหลักโภชนาการเพื่อสุขภาพ,การพัฒนาอย่างยั่งยืน, และนักเรียนได้มีโอกาสในการดูแลสวนพืชผักของโรงเรียน (Connective Cities, n.d.)



ในปี 2018 โครงการ Edible Cities Network – Integrating Edible City Solutions for social, resilient and sustainably productive cities (EdiCitNet) ได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนทุนโดยสหภาพยุโรป โครงการ EdiCitNet สนับสนุนการปลูกพืชในพื้นที่เมือง ซึ่งในปัจจุบันมีเครือข่ายร่วมกันกว่า 11 เมือง ในประเทศเนเธอร์แลนด์, เยอรมนี (Andernach ถือเป็นหนึ่งในเมืองเครือข่าย), นอร์เวย์, สเปน, สหราชอาณาจักร,สโลวีเนีย, ตูนิเซีย, โตโก, อุรุกวัย, และคิวบา (Edible Cities Network, n.d.) หนึ่งในโครงการที่มีชื่อเสียงมากของ EdiCitNet เกิดขึ้นที่เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยบริษัทชื่อ Rotterzwam ได้ทำการปลูกเห็ดในบริเวณที่เคยเป็นสระว่ายน้ำ โดยใช้ปุ๋ยที่ทำมาจากกากกาแฟ เห็ดที่ปลูกได้จะนำไปขายต่อให้กับร้านอาหารท้องถิ่น (Berlin University Alliance, 2019)



ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นเมืองกินได้ ในหลาย ๆ พื้นที่มากขึ้น ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนของเมืองกินได้ คือการใช้พื้นที่อันว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ พลเมืองในเมืองกินได้สามารถเรียนรู้ในการทำการเกษตรผ่านการเป็นอาสาสมัครและการทานผักและผลไม้ที่ปราศจากการใช้ยาฆ่าแมลงยังส่งผลให้ผู้คนในเมืองมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว



อ้างอิง:

รูปภาพ: 1 2 3



 

น้องหมี


อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอาเซียน


bottom of page